วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การอ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือเป็นการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ความรู้และแง่คิด เพื่อจะเป็นฐานของการขยายความคิออกไปในขอบข่ายที่กว้างขวางยิ่งขึ้น  ประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนส่วนใหญ่จะมีนิสัยการอ่านหนังสือเพื่อติดตามข่าวสารข้อมูล ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและความก้าวหน้าในวงการต่างๆ การอ่านหนังสือดังกล่าวทำให้ประชาชนมีข้อมูล มีความรู้และมีความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนเอง สังคมและประเทศชาติ รวมตลอดทั้งปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดในโลกซึ่งอาจจะส่งผลสะท้อนกลับมายังสังคมที่ตนอาศัยอยู่

มีข้อสังเกตว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ชอบการอ่านหนังสือ แต่จากการสำรวจซึ่งก็มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือก็คือ ประชาชนทั่วไปอ่านหนังสือเพียงไม่กี่บรรทัดต่อปี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่นิยมการอ่านหนังสือ ในส่วนนี้จะมีนัยอย่างสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาปัจเจกบุคคลในแง่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ความสามารถ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติโดยรวม แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การจะเชื่อถือข้อมูลดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใดยังเป็นประเด็นสำคัญ  เพราะการสำรวจดังกล่าวนี้ไม่ได้ง่ายนักตามหลักวิทยาศาสตร์ ข้อกล่าวอ้างที่กล่าวมาน่าจะมีความคลาดเคลื่อน นอกเหนือจากนั้นแม้คนไทยทั่วไปจะไม่นิยมการอ่านหนังสือแต่ก็ได้รับข่าวสารข้อมูลจากการพูดคุยในหมู่เพื่อนร่วมงาน คนในชุมชนเดียวกัน ในร้านกาแฟ การฟังวิทยุและการดูโทรทัศน์ ดังนั้น การไม่อ่านหนังสือจึงอาจชดเชยได้ด้วยการรับข่าวสารจากสื่อมวลชนอื่น

ในประเด็นของการอ่านหนังสือ สังคมที่มีประเพณีปัญญาการ เช่น สังคมที่เคยมีการชอบรับราชการเช่นในสังคมจีนโบราณจะมีสิ่งที่เรียกว่า ประเพณีปัญญาการ (intellectual tradition) ดังนั้น จึงมีการเน้นการรู้หนังสือและการอ่านหนังสือ ทำนองเดียวกัน ชาวยิวก็เน้นจากความรู้จากการอ่าน แต่ในบางสังคมอาจจะไม่ให้น้ำหนักกับการอ่านหนังสือยกเว้นเกี่ยวกับความคิดทางศาสนาซึ่งเป็นคนเฉพาะกลุ่ม

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะต้องกล่าวถึงในที่นี้ก็คือคำกล่าวที่ว่า ถ้ามีการอ่านหนังสือสังคมก็จะมีคนที่มีข่าวสารข้อมูล ความรู้ความคิด และสติปัญญามากขึ้น จะต้องกล่าวโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงและต้องมีข้อสงวนคำถาม 3 คำถามเกี่ยวกับการอ่านก็คือ
1. อ่านหนังสืออะไร
2. อ่านเพื่ออะไร
3. อ่านอย่างไร

ในส่วนของการอ่านหนังสืออะไรนั้น หนังสือมักจะเขียนเป็นภาษาท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่น แต่สำหรับคนที่มีความรู้จะรู้ภาษาต่างประเทศ บางคนรู้มากกว่าสองภาษา เพราะฉะนั้นโอกาสของการอ่านหนังสือจากภาษาที่เป็นสังคมของตน เช่น การอ่านภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ย่อมเสียเปรียบบุคคลที่สามารถอ่านภาษาต่างชาติ เช่นคนญี่ปุ่นสามารถอ่านภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ได้อีกด้วย โอกาสของการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล ความรู้ ความคิด แนวคิด สติปัญญา ย่อมมากกว่าคนที่อ่านได้เฉพาะภาษาท้องถิ่นของตน ประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครเช่นประเทศไทยมีความภูมิใจที่เป็นเอกราชมาตลอด แต่ปัญหาที่เผชิญในขณะนี้คือทักษะในภาษาอังกฤษ ถ้าจะมีคนอ่านหนังสือก็ต้องอ่านจากการแปลภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย มิฉะนั้นก็จะอ่านหนังสือที่เป็นภาษาไทยทั้งจากนักเขียนทั่วไปหรือนักเขียนที่เป็นนักวิชาการ โอกาสที่จะอ่านภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษไม่สามารถจะมีได้ ปัญหาก็คือ การเขียนหนังสือของคนไทยส่วนใหญ่ใช้วาทศิลป์ พรรณนาความเล่าเรื่อง น้อยคนที่จะมีการเขียนอย่างวิเคราะห์เจาะลึกทำให้เกิดความคิดอย่างลึกซึ้งจนสามารถเข้าใจประเด็นต่างๆ มากกว่าการอ่านเพื่อจำข้อมูลข่าวสารในลักษณะพรรณนาความ ดังนั้น ถ้าผู้อ่านหนังสืออ่านหนังสือที่เขียนโดยคนท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่มีประเพณีการเขียนที่เน้นวาทศิลป์ สำบัดสำนวน สุนทรีย์ในโคลงกลอน และเมื่อเขียนเกี่ยวกับวิชาการก็เป็นการคัดลอกเรียบเรียงมาจากนักคิดต่างประเทศโดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ผู้อ่านก็อ่านเพื่อจะจำในลักษณะนกแก้วนกขุนทองเพื่อนำไปทำข้อสอบ การอ่านหนังสือจึงขึ้นอยู่กับว่าอ่านหนังสือประเภทใดด้วย และเขียนโดยใคร คนจำนวนไม่น้อยอ่านเกี่ยวกับนิยาย กีฬา บันเทิง แต่เมื่ออ่านหนังสือเกี่ยวกับทางวิชาการอาจจะได้ข้อมูลที่ผิดๆ เนื่องจากคามรู้ความสามารถไม่ถึงขั้น และที่สำคัญที่สุดก็คืออ่านหนังสือในลักษณะพรรณานาความเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถนำไปสู่การขยายความสามารถในการคิดวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นอยู่ ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ อ่านอะไร และมีความสามารถที่จะอ่านเอกสารหรือหนังสือนอกจากภาษาท้องถิ่นได้หรือไม่

อ่านเพื่ออะไร การอ่านหนังสือเพื่อฆ่าเวลาเป็นการอ่านไปเรื่อยๆ การอ่านหนังสือเพื่อความบันเทิงก็เป็นจุดประสงค์อย่างหนึ่ง การอ่านเพื่อหาความรู้ เช่น การอ่านหนังสือเพื่อการประกอบตู้หนึ่งใบก็เพื่อเป็นการหาความรู้ในการประกอบหรือสร้างบางสิ่งบางอย่าง การอ่านหนังสือเพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือ หรือการเขียนสารนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ในการศึกษาเพื่อรับปริญญามหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิต ก็เป็นการอ่านอีกประเภทหนึ่ง ปัญหาที่เผชิญกันมากที่สุดในประเทศไทยก็คือ มหาวิทยาลัยระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ผู้เขียนสารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ ส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถที่จะอ่านจากต้นฉบับที่เป็นภาษาเดิม จึงมีการอ้างนักวิชาการต่างประเทศที่มีการอ้างแล้วโดยนักวิชาการไทย และส่วนใหญ่ก็เป็นการอ้างเพื่อมาพรรณนาความ น้อยคนที่จะอ้างโดยยกประเด็นถกเถียงขัดแย้งกับสิ่งที่ยกมาเพื่อใช้ในการเขียนหนังสือ ดังนั้น การอ่านหนังสือที่ผู้อ่านไม่สามารถจะอ่านจากต้นฉบับได้จึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการตีความที่ผิด รวมทั้งการอ้างที่ผิด ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึงการอ่านหนังสือจะต้องถามประเด็นที่สำคัญคือ อ่านเพื่ออะไร ถ้าอ่านเพื่อฆ่าเวลา หรือเพื่อบันเทิง ก็ไม่เป็นปัญหา แต่จะช่วยประเทืองปัญญามากน้อยเพียงใดเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

อ่านอย่างไร การอ่านหนังสือจะต้องมีการตั้งประเด็นว่าอ่านอย่างไร บางคนอ่านเพื่อสักจะให้จบ อ่านเพื่อจำข่าวสารข้อมูล ไม่เคยอ่านในลักษณะที่คิดวิเคราะห์โดยพินิจพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และมีการเห็นด้วยหรือขัดแย้งในใจ ซึ่งทั้งนี้หมายความว่าผู้อ่านต้องมีจิตวิเคราะห์และมีการอ่านหนังสือมามากจนมีประเด็นมากพอที่จะมองเป็นประเด็นแตกต่างจากที่อ่าน นอกเหนือจากนั้น เมื่อได้ประเด็นจากการอ่านก็อาจจะสังเคราะห์กับประเด็นที่ตนมีอยู่นำไปสู่การงอกเงยของประเด็นความคิดในลักษณะต่อยอด ขยายขอบข่ายกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งในลักษณะนี้ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น การอ่านหนังสือจึงมีประเด็นสำคัญว่าอ่านอย่างไร ถ้าอ่านอย่างคิดวิเคราะห์ (critical reading) ย่อมแตกต่างจากการอ่านเพื่อจดจำโดยขีดเส้นใต้และดึงเนื้อหาออกมา

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า การอ่านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียวย่อมเป็นเงื่อนไขที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนมีสติปัญญาเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในเบื้องต้นก็ตาม กล่าวโดยสรุป การอ่านหนังสือซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในสังคมที่พัฒนาแล้ว จึงต้องตั้งประเด็นคำถามว่าอ่านหนังสืออะไร อ่านเพื่ออะไร และอ่านอย่างไร ในส่วนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขาดความรู้ทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษซึ่งมีการตีพิมพ์หนังสือจำนวนมากมาย จะเป็นความเสียเปรียบอย่างยิ่งเมื่อเทียบคนไทยกับคนมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งสามารถอ่านได้ทั้งหนังสือที่เป็นภาษาของตนและภาษาต่างประเทศ

นัยจากบทความดังกล่าวก็คือ การมุ่งเน้นให้คนอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การไม่สามารถเปิดหน้าต่างแห่งความรู้ไปยังโลกที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในเว็บไซต์ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ จะเป็นความเสียเปรียบอย่างมหาศาลต่อสังคมที่ต้องการพัฒนาในด้านการศึกษาและการพัฒนาสังคมเพื่อก้าวไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์

ในกรณีสังคมไทยสิ่งซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนก็คือ อีกสี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางของการสื่อสาร การติดต่อประสานงานต่างๆ จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ สังคมไทยกำลังเผชิญกับเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ ความสามารถในการสื่อสารกับประเทศสมาชิกอื่นในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า อย่างองอาจและสง่าผ่าเผยด้วยความมั่นใจ ที่สำคัญการขาดความรู้ที่จะอ่านเอกสารหรือหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษยังจะกลายเป็นข้อจำกัด เพราะข่าวสารข้อมูล ความคิด แนวคิด ที่จะเจรจาพาที อภิปรายถกเถียง กับสมาชิกประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมโนทัศน์ (concept) ที่ลึกล้ำและซับซ้อนกว่าภาษาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่คนไม่รู้ภาษาอังกฤษอาจเข้าไม่ถึง
หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ( วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2554 )
ศ.ดร.ลิขิต  ธีรเวคิน ราชบัณฑิต  
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก  วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น