วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หนังสือคือประตูสู่โลกกว้าง

ขึ้นชื่อว่าหนังสือเชื่อแน่ว่าคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธหรอกว่า หนังสือคือประตูนำเข้าสู่โลกรู้แจ้งเห็นจริง  ชาวนาผู้หนึ่งอยู่ไกล้โพ้นแห่งมหานครของชาติตน  แต่เขาสามารถรู้หลาย ๆสิ่งหลาย ๆอย่างเกี่ยวกับเมืองหลวงของเขา  หากเขาได้อ่านได้ศึกษาหนังสือเกี่ยวกับมหานครแห่งนั้นหนังสือคือประตูสู่โลกกว้างคือนิยามแห่งสัจจะในยุคโลกาภิวัตน คนแก่คนเก่าท่านเคยอบรมสั่งสอนลูกหลานของท่านว่า ถ้าอยากมีความรู้ ต้องหมั่นอ่านหนังสือหนังหา ถ้าอยากมีวิชาให้หมั่นร่ำหมั่นเรียน จากคำกล่าวนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอนำเอาคำกล่าวมาแยกชี้แนะให้เข้าใจแจ่มแจ้งแห่งความเป็นไปได้
         คำว่าถ้าอยากมีความรู้ต้องหมั่นอ่านหนังสือหนังหาตามปกติแล้วคนเราไม่ว่าใครก็ตามก็ย่อมรู้จักหนังสือ และเคยอ่านหนังสือ แต่คนเราจะอ่านแต่เพียงหนังสือที่มีอยู่เพียงอย่างเดียวคงไม่พอแน่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าจะนำ ไปสู่โลกกว้างอีกทางหนึ่งก็คือการอ่านหนังหาโดยข้าพเจ้าขอแยกแยะความหมายของคำว่า หนังหาไว้ดังนี้ คือ หนังหาน่าจะมาจากคำว่าหนังสือบวกกับคำว่าแสวงหา”เมื่อหนังสือกับการแสวงหามารวมกันจึงเป็นหนังหา ทีนี้เรามาดูความหมายของคำว่าหนังสือหนังหากัน หนังสือหนังหา หมายถึง หนึงสือที่เราต้องการศึกษา แล้วเราก็แสวงหามา เพื่อความรู้แจ้งเห้นจริงในสิ่งนั้น ๆ นั่นคือเราอยากทราบเรื่องอะไร ก็หาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาอ่านมาศึกษา  แล้วเราก้จะรู้ในสิ่งที่เราต้องการ  การหาหนังสือมาอ่านนั้นทุกวันนี้หาได้ง่ายมาก เช่น ซื้อจากร้าน ขายหนังสือทั่ว ๆไป หรือถ้าไม่มีงบในการซื้อก็ไม่ยาก เพราะทุกวันนี้ห้องสมุดมีเป็นจำนวนมาก หรือหากไม่สามารถ จะกระทำได้ตามที่กล่าว ข้าพเจ้าขอแนะนำแหล่งความรู้อีกแห่งหนึ่งที่เราสามารถจะไปหาได้โดยง่าย คือ คุณครู ที่โรงเรียน เจ้าหน้าที่เกษตร  เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ ฯลฯ บุคคลที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นแหล่งความรู้ทั้งสิ้น เมื่อเราเข้าถึงท่านได้ หนังสือดี ๆที่ท่านมีอยู่ ท่านคงไม่ปฏิเสธในความต้องการอยากเรียนรู้ของเราแน่ แล้วเราก็จะได้ เป็นผู้ที่ได้อ่านหนังสือหนังหาอย่างแท้จริง
     ส่วนคำว่าถ้าอยากมีวิชาให้หมั่นร่ำหมั่นเรียนตามความหมายก็คือการเรียนเป็นประจำนั่นเอง เมื่อดูตาม ความหมายแล้ว การเรียนหนังสือจึงไม่เพียงแต่การเรียนในห้องเรียนเท่านั้น การเรียนที่ต่อเนื่องและประจำจึงน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการอ่านหนังสือไปในตัวด้วย  ดังเช่นการเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน การเรียนของเราก็คือการอ่าน นั่นเอง การเรียนโดยการอ่านนั้นเราสามารถทำได้ในหลาย ๆสถานที่เหมือนกัน นอกจากการอ่านที่บ้านแล้ว เราก็สามารถอ่านได้ตามที่สาธารณะทั่วไป เช่น เราเข้าไปในห้องน้ำห้องส้วมตามสถาบันการศึกา หรือโรงงานต่าง ๆ เชื่อแน่ว่าต้องมีวรรณกรรมตามฝาผนังอย่างแน่นอน วรรณกรรมตามฝาผนังนั้น ทำให้ผู้อ่านได้รู้กว้างเกี่ยวกับจิตใจ ของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี  เพราะวรรณกรรมเหล่านี้ จะเขียนจากความรู้สึกจริง ๆของผู้เขียน
     จากที่กล่าวมาข้างต้น ก็พอจะมองให้เราได้เห็นว่า การอ่านหนังสือนั้น ทำให้เราได้รับความรู้และประสบการณ์ ใหม่ ๆ การนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม สิ่งที่เราอ่านแล้วเห็นว่าดี เราก็นำไปประพฤติปฏิบัติ
     สิ่งใดไม่ดีก็หลีกเลี่ยง  การอ่านหนังสือจะมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างมากหากเราใช้ ใจอ่านหนังสือ  ใช้ ความคิด วิเคราะห์สิ่งที่อ่าน ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า หนังสือคือประตูสู่โลกกว้าง จึงเป็นคำกล่าวที่ใครจะปฏิเสธไม่ได้
ที่มา http://www.sahavicha.com  นำเสนอโดย : ครูบัวกันต์ วิลามาศ  โรงเรียนบ้านตานวน  สพป.ศรีสะเกษ เขต 4

เทคนิคการอ่านหนังสือ

การอ่าน คือ การรับรู้ความหมายจากถ้อยคำที่ตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์หรือในหนังสือ เป็นการรับรู้ว่าผู้เขียนคิดอะไรและพูดอะไร โดยเริ่มต้นทำความเข้าใจถ้อยคำแต่ละคำเข้าใจวลี เข้าใจประโยค ซึ่งรวมอยู่ในย่อหน้า เข้าใจแต่ละย่อหน้า ซึ่งรวมเป็นเรื่องราวเดียวกัน การอ่านเป็นการบริโภคคำที่ถูกเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือหรือสัญลักษณ์ การอ่านโดยหลักวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการที่แสงตกกระทบที่สื่อ และสะท้อนจากตัวหนังสือผ่านทางเลนส์นัยน์ตา และประสาทตาเข้าสู่เซลล์สมองไปเป็นความคิด (Idea) ความรับรู้ (Perception) และก่อให้เกิดความจำ (Memory) ทั้งความจำระยะสั้น และความจำระยะยาว

กระบวนการอ่าน มี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นแรก การอ่านออก อ่านได้ หรืออ่านออกเสียงได้ถูกต้อง ขั้นที่สองการอ่านแล้วเข้าใจ ความหมายของคำ วลี ประโยค สรุปความได้ ขั้นที่สามการอ่านแล้วรู้จักใช้ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และออกความเห็นในทางที่ขัดแย้งหรือเห็นด้วยกับผู้เขียนอย่างมีเหตุผล และขั้นสุดท้ายคือการอ่านเพื่อนำไปใช้ ประยุกต์ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นผู้ที่อ่านได้และอ่านเป็นจะต้องใช้กระบวนการทั้งหมดในการอ่านที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการถ่ายทอดความหมายจากตัวอักษรออกมาเป็นความคิด และจากการคิดที่ได้จากการอ่านผสมผสานกับประสบการณ์เดิม และสามารถความคิดนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป
1. คุณค่าของการอ่าน
2. การเตรียมพร้อมเพื่อการอ่าน
3. การเลือกสรรวัสดุการอ่าน
4. การกำหนดจุดมุ่งหมายการอ่าน
5. วิธีการอ่านที่เหมาะสม
คุณค่าของการอ่าน 
วัตถุประสงค์ในการอ่านของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันออกไป เช่น อ่านเพื่อความรู้ อ่านเพื่อให้เกิดความคิด อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน อ่านเพื่อความจรรโลงใจ เป็นต้น ซึ่งผู้อ่านจำเป็นต้องทราบจุดมุ่งหมายของการอ่านนั้นๆ ไว้ก่อนการอ่านทุกครั้ง อย่างไรก็ตามการอ่านมีความสำคัญต่อชีวิตที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการช่วยให้ได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน การอ่านมีความจำเป็นต่อการศึกษาเล่าเรียน ทั้งในระบบและนอกระบบ คนที่เรียนหนังสือเก่งมักจะเป็นคนที่อ่านหนังสือเก่ง เพราะการอ่านช่วยให้ได้รับความรู้และความเข้าใจที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ และสามารถศึกษาต่อในระดับสูงได้ การอ่านมีคุณค่าต่อมนุษย์ เนื่องจากเป็นการสนองความต้องการของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความรู้ ยกระดับสติปัญญาให้สูงขึ้น ทำให้มนุษย์เกิดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาความคิดให้ก้าวหน้า ส่งผลต่อการพัฒนาในอาชีพ ทำให้มนุษย์ทันต่อเหตุการณ์ ได้รับความรู้เพิ่ม ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ ช่วยพัฒนาจิตใจให้งอกงาม ช่วยขจัดความทุกข์ ความเศร้าหมอง การอ่านทำให้เกิดความเข้าใจ ความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้รับความเพลิดเพล
การเตรียมพร้อมเพื่อการอ่าน 
การอ่านจะดำเนินไปได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และองค์ประกอบที่อยู่ภายในร่างกาย การอ่านท่ามกลางบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะนำมาซึ่งประสิทธิและประสิทธิผลในการอ่าน ทั้งนี้ควรคำนึงถึง
1.การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อม สถานที่ที่เหมาะกับการอ่านควรมีความเงียบสงบ ตัดสิ่งต่างๆ ที่รบกวนสมาธิออกไป มีอุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสม มีโต๊ะที่มีความสูงพอเหมาะและเก้าอี้ที่นั่งสบายไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป 
2.การจัดท่าของการอ่าน ตำแหน่งของหนังสือควรอยู่ห่างประมาณ 35-45 เซนติเมตร และหน้าหนังสือจะต้องตรงอยู่กลางสายตา ควรนั่งให้หลังตรงไม่ควรนอนอ่าน ทั้งนี้เพื่อให้สมองได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้เกิดการตื่นตัวต่อการรับรู้ จดจำ และอ่านได้นาน
3.การจัดอุปกรณ์ช่วยในการอ่าน การอ่านอาจมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กระดาษสำหรับบันทึกดินสอ ปากกา ดินสอสี
4.การจัดเวลาที่เหมาะสม สำหรับนักศึกษาที่ต้องมีการทบทวนบทเรียนควรอ่านหนังสือในช่วงที่เหมาะสมคือช่วงที่ที่ไม่ดึกมาก คือ ตั้งแต่ 20.00 - 23.00 น. เนื่องจากร่างกายยังไม่อ่อนล้าเกินไปนัก หรืออ่านในตอนเช้า 5.00-6.30 น. หลังจากที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ในการอ่านแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 50 นาทีและให้เปลี่ยนแปลงอิริยาบถสัก 10 นาทีก่อนลงมืออ่านต่อไป
5. การเตรียมตนเอง ได้แก่ การทำจิตใจให้แจ่มใส มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ และมีสมาธิในการอ่าน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีสุขภาพสายตาที่ดี ตัดปัญหารบกวนจิตใจให้หมด การแบ่งเวลาให้ถูกต้อง และมีระเบียบวินัยในชีวิตโดยให้เวลาแต่ละวันฝึกอ่านหนังสือ และพยายามฝึกทักษะใหม่ๆ ในการอ่าน เช่น ทักษะการอ่านเร็วอย่างเข้าใจ เป็นต้น
การเลือกสรรวัสดุการอ่าน
การเลือกสรรวัสดุการอ่าน ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการอ่าน เช่น การอ่านเพื่อการศึกษา การอ่านเพื่อหาข้อมูลประกอบการทำงาน การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน การอ่านเพื่อฆ่าเวลา การรู้จักเลือกวัสดุการอ่านที่มีประโยชน์จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ตามเป้าหมาย การเลือกสรรวัสดุการอ่านมีความสัมพันธ์กับการเลือกใช้ทรัพยากรสารนิเทศในห้องสมุด เช่น
1.     การอ่านเพื่อความรู้ เช่น ตำราวิชาการ
2.     การอ่านเพื่อความบันเทิงใจ
3.     การอ่านเพื่อเป็นกำลังใจ เสริมสร้างปัญญา เช่น หนังสือจิตวิทยา หนังสือธรรมะ
4.     การอ่านเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
เมื่อเลือกวัสดุการอ่านหรือหนังสือได้แล้ว ก็จะต้องกำหนดว่าต้องการอะไรข้อมูลในลักษณะใดจากหนังสือเล่มนั้น ขอบเขตของข้อมูลในลักษณะกว้างหรือแคบแต่ลึกซึ้ง ทั้งนี้เพื่อกำหนดรูปแบบการอ่านเพื่อความต้องการต่อไ
การกำหนดจุดมุ่งหมายการอ่าน
การรู้ความมุ่งหมายในการอ่านเปรียบเหมือนการรู้จุดหมายปลายทางของการเดินทาง ทำให้สามารถเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ และเดินทางไปสู่ที่หมายได้ นักอ่านที่ดีควรมีจุดมุ่งหมายว่าต้องการอ่านเพื่ออะไร เพื่อจะได้กำหนดวิธีอ่านได้เหมาะสม การอ่านเพื่อการศึกษาค้นคว้าและทำรายงาน มีจุดมุ่งหมายดังนี้
1. อ่านเพื่อความรู้พื้นฐาน เป็นการอ่านเพื่อรู้เรื่องโดยสังเขป หรือเพื่อลักษณะของหนังสือ เช่น การอ่านเพื่อ รวบรวมสิ่งพิมพ์ที่จะใช้ในการค้นคว้าและเขียนรายงาน
2. อ่านเพื่อรวบรวมข้อมูล เป็นการอ่านให้เข้าในเนื้อหาสาระ และจัดลำดับความคิดได้ เพื่อสามารถรวบรวม และบันทึกข้อมูลสำหรับเขียนรายงาน
3. อ่านเพื่อหาแนวคิด หมายถึง การอ่านเพื่อรู้ว่าสิ่งที่อ่านนั้นมีแนวคิดหรือสาระสำคัญอย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ในลักษณะใด เช่น การอ่านบทความ และสารคดีเพื่อหาหัวข้อสำหรับเขียนโครงร่างรายงาน
4. อ่านเพื่อวิเคราะห์หรือวิจารณ์ คือการอ่านเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งพอที่จะนำความรู้ไปใช้ หรือแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ เรื่องที่อ่านได้ เช่น การอ่านบทความที่แสดงความคิดเห็น การอ่านตารางและรายงาน
วิธีการอ่านที่เหมาะสม
การอ่านมีหลายระดับและมีวิธีการต่างๆ ตามความมุ่งหมายของผู้อ่าน และประเภทของสื่อการอ่าน การอ่านเพื่อการศึกษา ค้นคว้าและเขียนรายงาน อาจใช้วิธีอ่านต่าง ๆ เช่น การอ่านสำรวจ การอ่านข้าม การอ่านผ่าน การอ่านจับประเด็น การอ่านสรุปความ และการอ่านวิเคราะห์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.การอ่านสำรวจ คือ การอ่านข้อเขียนอย่างรวดเร็ว เพื่อรู้ลักษณะโครงสร้างของข้อเขียน สำนวนภาษา เนื้อเรื่องโดยสังเขป เป็นวิธีอ่านที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเลือกสรรสิ่งพิมพ์ สำหรับใช้ประกอบการค้นคว้า หรือการหาแนวเรื่องสำหรับเขียนรายงาน และรวบรวมบรรณานุกรมในหัวข้อที่เขียนรายงาน 
2.การอ่านข้าม เป็นวิธีอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าใจเนื้อหาของข้อเขียน โดยเลือกอ่านข้อความบางตอน เช่น การอ่านคำนำ สาระสังเขป บทสรุป และการอ่านเนื้อหาเฉพาะตอนที่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น 
3.การอ่านผ่าน เป็นการอ่านแบบกวาดสายตา (Scanning Reading) โดยผู้อ่านจะทำการกวาดสายตาอย่างรวดเร็วไปยังสิ่งที่เป็นเป้าหมายในข้อเขียน เช่น คำสำคัญ ตัวอักษร หรือ สัญลักษณ์ แล้วอ่านรายละเอียดเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ เช่น การอ่านเพื่อค้นหาชื่อในพจนานุกรม และการอ่านแผนที่ 
4.การอ่านจับประเด็น หมายถึง การอ่านเรื่องหรือข้อเขียนโดยทำความเข้าใจสาระสำคัญในขณะที่อ่าน มักใช้ในการอ่านข้อเขียนที่ไม่ยาวนัก เช่น บทความ การอ่านเร็วๆ หลายครั้งจะช่วยให้จับประเด็นได้ โดยการอ่านมีเทคนิคคือ ต้องสังเกตคำสำคัญ ประโยคสำคัญที่มีคำสำคัญ และทำการย่อสรุปบันทึกประโยคสำคัญไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป 
5.การอ่านสรุปความ หมายถึง การอ่านโดยสามารถตีความหมายสิ่งที่อ่านได้ถูกต้องชัดเจนเข้าใจเรื่องอย่างดี สามารถแยกส่วนที่สำคัญหรือไม่สำคัญออกจากกัน รู้ว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็น ส่วนใดเป็นความคิดหลัก ความคิดรอง การอ่านสรุป ความมีสองลักษณะคือ การสรุปแต่ละย่อหน้าหรือแต่ละตอน และสรุปจากทั้งเรื่อง หรือทั้งบท การอ่านสรุปความควรอย่างอย่างคร่าว ๆ ครั้งหนึ่งพอให้รู้เรื่อง แล้วอ่านละเอียดอีกครั้งเพื่อเข้าใจเรื่องอย่างดี หลักจากนั้นตั้งคำถามตนเองในเรื่องที่อ่านว่าเกี่ยวกับอะไร มีเรื่องราวอย่างไร แล้วเรียบเรียงเนื้อหาเป็นสำนวนภาษาของผู้สรุป 
6.การอ่านวิเคราะห์ การอ่านเพื่อค้นคว้าและเขียนรายงานโดยทั่วไปต้องมีการวิเคราะห์ความหมายของข้อความ ทั้งนี้เพราะผู้เขียนอาจใช้คำและสำนวนภาษาในลักษณะต่าง ๆ อาจเป็นภาษาโดยตรงมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ภาษาโดยนัยที่ต้องทำความเข้าใจ และภาษาที่มีความหมายตามอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน ผู้อ่านที่มีความรู้เรื่องคำศัพท์และสำนวนภาษาดี มีประสบการณ์ ในการ อ่านมากและมีสมาธิในการอ่านดี ย่อมสามารถวิเคราะห์ได้ตรงความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อ และสามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ดี
ที่มา: http://www.thaijustice.com/webboard.asp?sub=0&id=644506

การอ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือเป็นการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ความรู้และแง่คิด เพื่อจะเป็นฐานของการขยายความคิออกไปในขอบข่ายที่กว้างขวางยิ่งขึ้น  ประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนส่วนใหญ่จะมีนิสัยการอ่านหนังสือเพื่อติดตามข่าวสารข้อมูล ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและความก้าวหน้าในวงการต่างๆ การอ่านหนังสือดังกล่าวทำให้ประชาชนมีข้อมูล มีความรู้และมีความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนเอง สังคมและประเทศชาติ รวมตลอดทั้งปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดในโลกซึ่งอาจจะส่งผลสะท้อนกลับมายังสังคมที่ตนอาศัยอยู่

มีข้อสังเกตว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ชอบการอ่านหนังสือ แต่จากการสำรวจซึ่งก็มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือก็คือ ประชาชนทั่วไปอ่านหนังสือเพียงไม่กี่บรรทัดต่อปี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่นิยมการอ่านหนังสือ ในส่วนนี้จะมีนัยอย่างสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาปัจเจกบุคคลในแง่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ความสามารถ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติโดยรวม แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การจะเชื่อถือข้อมูลดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใดยังเป็นประเด็นสำคัญ  เพราะการสำรวจดังกล่าวนี้ไม่ได้ง่ายนักตามหลักวิทยาศาสตร์ ข้อกล่าวอ้างที่กล่าวมาน่าจะมีความคลาดเคลื่อน นอกเหนือจากนั้นแม้คนไทยทั่วไปจะไม่นิยมการอ่านหนังสือแต่ก็ได้รับข่าวสารข้อมูลจากการพูดคุยในหมู่เพื่อนร่วมงาน คนในชุมชนเดียวกัน ในร้านกาแฟ การฟังวิทยุและการดูโทรทัศน์ ดังนั้น การไม่อ่านหนังสือจึงอาจชดเชยได้ด้วยการรับข่าวสารจากสื่อมวลชนอื่น

ในประเด็นของการอ่านหนังสือ สังคมที่มีประเพณีปัญญาการ เช่น สังคมที่เคยมีการชอบรับราชการเช่นในสังคมจีนโบราณจะมีสิ่งที่เรียกว่า ประเพณีปัญญาการ (intellectual tradition) ดังนั้น จึงมีการเน้นการรู้หนังสือและการอ่านหนังสือ ทำนองเดียวกัน ชาวยิวก็เน้นจากความรู้จากการอ่าน แต่ในบางสังคมอาจจะไม่ให้น้ำหนักกับการอ่านหนังสือยกเว้นเกี่ยวกับความคิดทางศาสนาซึ่งเป็นคนเฉพาะกลุ่ม

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะต้องกล่าวถึงในที่นี้ก็คือคำกล่าวที่ว่า ถ้ามีการอ่านหนังสือสังคมก็จะมีคนที่มีข่าวสารข้อมูล ความรู้ความคิด และสติปัญญามากขึ้น จะต้องกล่าวโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงและต้องมีข้อสงวนคำถาม 3 คำถามเกี่ยวกับการอ่านก็คือ
1. อ่านหนังสืออะไร
2. อ่านเพื่ออะไร
3. อ่านอย่างไร

ในส่วนของการอ่านหนังสืออะไรนั้น หนังสือมักจะเขียนเป็นภาษาท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่น แต่สำหรับคนที่มีความรู้จะรู้ภาษาต่างประเทศ บางคนรู้มากกว่าสองภาษา เพราะฉะนั้นโอกาสของการอ่านหนังสือจากภาษาที่เป็นสังคมของตน เช่น การอ่านภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ย่อมเสียเปรียบบุคคลที่สามารถอ่านภาษาต่างชาติ เช่นคนญี่ปุ่นสามารถอ่านภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ได้อีกด้วย โอกาสของการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล ความรู้ ความคิด แนวคิด สติปัญญา ย่อมมากกว่าคนที่อ่านได้เฉพาะภาษาท้องถิ่นของตน ประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครเช่นประเทศไทยมีความภูมิใจที่เป็นเอกราชมาตลอด แต่ปัญหาที่เผชิญในขณะนี้คือทักษะในภาษาอังกฤษ ถ้าจะมีคนอ่านหนังสือก็ต้องอ่านจากการแปลภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย มิฉะนั้นก็จะอ่านหนังสือที่เป็นภาษาไทยทั้งจากนักเขียนทั่วไปหรือนักเขียนที่เป็นนักวิชาการ โอกาสที่จะอ่านภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษไม่สามารถจะมีได้ ปัญหาก็คือ การเขียนหนังสือของคนไทยส่วนใหญ่ใช้วาทศิลป์ พรรณนาความเล่าเรื่อง น้อยคนที่จะมีการเขียนอย่างวิเคราะห์เจาะลึกทำให้เกิดความคิดอย่างลึกซึ้งจนสามารถเข้าใจประเด็นต่างๆ มากกว่าการอ่านเพื่อจำข้อมูลข่าวสารในลักษณะพรรณนาความ ดังนั้น ถ้าผู้อ่านหนังสืออ่านหนังสือที่เขียนโดยคนท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่มีประเพณีการเขียนที่เน้นวาทศิลป์ สำบัดสำนวน สุนทรีย์ในโคลงกลอน และเมื่อเขียนเกี่ยวกับวิชาการก็เป็นการคัดลอกเรียบเรียงมาจากนักคิดต่างประเทศโดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ผู้อ่านก็อ่านเพื่อจะจำในลักษณะนกแก้วนกขุนทองเพื่อนำไปทำข้อสอบ การอ่านหนังสือจึงขึ้นอยู่กับว่าอ่านหนังสือประเภทใดด้วย และเขียนโดยใคร คนจำนวนไม่น้อยอ่านเกี่ยวกับนิยาย กีฬา บันเทิง แต่เมื่ออ่านหนังสือเกี่ยวกับทางวิชาการอาจจะได้ข้อมูลที่ผิดๆ เนื่องจากคามรู้ความสามารถไม่ถึงขั้น และที่สำคัญที่สุดก็คืออ่านหนังสือในลักษณะพรรณานาความเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถนำไปสู่การขยายความสามารถในการคิดวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นอยู่ ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ อ่านอะไร และมีความสามารถที่จะอ่านเอกสารหรือหนังสือนอกจากภาษาท้องถิ่นได้หรือไม่

อ่านเพื่ออะไร การอ่านหนังสือเพื่อฆ่าเวลาเป็นการอ่านไปเรื่อยๆ การอ่านหนังสือเพื่อความบันเทิงก็เป็นจุดประสงค์อย่างหนึ่ง การอ่านเพื่อหาความรู้ เช่น การอ่านหนังสือเพื่อการประกอบตู้หนึ่งใบก็เพื่อเป็นการหาความรู้ในการประกอบหรือสร้างบางสิ่งบางอย่าง การอ่านหนังสือเพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือ หรือการเขียนสารนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ในการศึกษาเพื่อรับปริญญามหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิต ก็เป็นการอ่านอีกประเภทหนึ่ง ปัญหาที่เผชิญกันมากที่สุดในประเทศไทยก็คือ มหาวิทยาลัยระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ผู้เขียนสารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ ส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถที่จะอ่านจากต้นฉบับที่เป็นภาษาเดิม จึงมีการอ้างนักวิชาการต่างประเทศที่มีการอ้างแล้วโดยนักวิชาการไทย และส่วนใหญ่ก็เป็นการอ้างเพื่อมาพรรณนาความ น้อยคนที่จะอ้างโดยยกประเด็นถกเถียงขัดแย้งกับสิ่งที่ยกมาเพื่อใช้ในการเขียนหนังสือ ดังนั้น การอ่านหนังสือที่ผู้อ่านไม่สามารถจะอ่านจากต้นฉบับได้จึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการตีความที่ผิด รวมทั้งการอ้างที่ผิด ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึงการอ่านหนังสือจะต้องถามประเด็นที่สำคัญคือ อ่านเพื่ออะไร ถ้าอ่านเพื่อฆ่าเวลา หรือเพื่อบันเทิง ก็ไม่เป็นปัญหา แต่จะช่วยประเทืองปัญญามากน้อยเพียงใดเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

อ่านอย่างไร การอ่านหนังสือจะต้องมีการตั้งประเด็นว่าอ่านอย่างไร บางคนอ่านเพื่อสักจะให้จบ อ่านเพื่อจำข่าวสารข้อมูล ไม่เคยอ่านในลักษณะที่คิดวิเคราะห์โดยพินิจพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และมีการเห็นด้วยหรือขัดแย้งในใจ ซึ่งทั้งนี้หมายความว่าผู้อ่านต้องมีจิตวิเคราะห์และมีการอ่านหนังสือมามากจนมีประเด็นมากพอที่จะมองเป็นประเด็นแตกต่างจากที่อ่าน นอกเหนือจากนั้น เมื่อได้ประเด็นจากการอ่านก็อาจจะสังเคราะห์กับประเด็นที่ตนมีอยู่นำไปสู่การงอกเงยของประเด็นความคิดในลักษณะต่อยอด ขยายขอบข่ายกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งในลักษณะนี้ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น การอ่านหนังสือจึงมีประเด็นสำคัญว่าอ่านอย่างไร ถ้าอ่านอย่างคิดวิเคราะห์ (critical reading) ย่อมแตกต่างจากการอ่านเพื่อจดจำโดยขีดเส้นใต้และดึงเนื้อหาออกมา

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า การอ่านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียวย่อมเป็นเงื่อนไขที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนมีสติปัญญาเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในเบื้องต้นก็ตาม กล่าวโดยสรุป การอ่านหนังสือซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในสังคมที่พัฒนาแล้ว จึงต้องตั้งประเด็นคำถามว่าอ่านหนังสืออะไร อ่านเพื่ออะไร และอ่านอย่างไร ในส่วนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขาดความรู้ทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษซึ่งมีการตีพิมพ์หนังสือจำนวนมากมาย จะเป็นความเสียเปรียบอย่างยิ่งเมื่อเทียบคนไทยกับคนมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งสามารถอ่านได้ทั้งหนังสือที่เป็นภาษาของตนและภาษาต่างประเทศ

นัยจากบทความดังกล่าวก็คือ การมุ่งเน้นให้คนอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การไม่สามารถเปิดหน้าต่างแห่งความรู้ไปยังโลกที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในเว็บไซต์ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ จะเป็นความเสียเปรียบอย่างมหาศาลต่อสังคมที่ต้องการพัฒนาในด้านการศึกษาและการพัฒนาสังคมเพื่อก้าวไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์

ในกรณีสังคมไทยสิ่งซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนก็คือ อีกสี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางของการสื่อสาร การติดต่อประสานงานต่างๆ จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ สังคมไทยกำลังเผชิญกับเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ ความสามารถในการสื่อสารกับประเทศสมาชิกอื่นในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า อย่างองอาจและสง่าผ่าเผยด้วยความมั่นใจ ที่สำคัญการขาดความรู้ที่จะอ่านเอกสารหรือหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษยังจะกลายเป็นข้อจำกัด เพราะข่าวสารข้อมูล ความคิด แนวคิด ที่จะเจรจาพาที อภิปรายถกเถียง กับสมาชิกประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมโนทัศน์ (concept) ที่ลึกล้ำและซับซ้อนกว่าภาษาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่คนไม่รู้ภาษาอังกฤษอาจเข้าไม่ถึง
หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ( วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2554 )
ศ.ดร.ลิขิต  ธีรเวคิน ราชบัณฑิต  
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก  วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

ประโยชน์ของการอ่าน


ประโยชน์ของการอ่าน การอ่านได้อะไร
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการอ่านว่า
การอ่านมีความสำคัญมากในการกำหนดว่า อนาคต เราจะเป็นเช่นไร..
        ผมได้พยายามย้ำเด็กรุ่นหลัง ๆ ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการอ่านหนังสือมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าเด็ก ๆ และคนทั่วไปในสังคมไทยของเราอ่านหนังสือกันน้อยเหลือเกิน เมื่ออ่านน้อยเราจึงเป็นคนที่มีโลกทัศน์แคบ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างจำกัด ขาดความสามารถในการแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง จนกลายเป็นคนล้าหลังไปในที่สุด
        การอ่านเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราทุกคน เพราะเป็นการเพิ่มทุนความรู้ที่คุ้มค่ายิ่งสำหรับชีวิตในอนาคต เราต้องสร้างทัศนคติแง่บวกให้กับการอ่าน เช่นตระหนักว่า การอ่าน คือ เครื่องมือของผู้ที่ปรารถนา ความสำเร็จ” “การอ่านไม่ใช่เป็นการเสียเวลา แต่เป็นการลงทุนทางปัญญา” “การอ่านทำให้เราเป็นคนฉลาด มีทั้งความรู้ และรู้จักคิดใคร่ครวญ นอกจากนี้ ที่สำคัญกว่านั้น เราจำเป็นต้องอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ โดย

อ่านหนังสือที่ช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ
      ในชีวิตเรามีหนังสือ 2 ประเภทที่จะช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ประเภทที่หนึ่ง หนังสือที่ตนเองชอบ เลือกหนังสือที่ทำให้มีความสุขเมื่อได้อ่าน อาจจะเป็นหนังสือประเภทใดก็ได้ เช่น บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย และประเภทที่สอง หนังสือที่ตนเองต้องอ่าน เลือกอ่านหนังสือที่สนับสนุนสู่ความสำเร็จของชีวิต และอ่านหนังสือให้ครบถ้วนทุกด้าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ ที่เราอยากจะพัฒนา และเพื่อจรรโลงจิตใจและ คุณธรรมให้สูงขึ้น

บริหารเวลาในการอ่าน
      เราควรกำหนดเวลาอย่างเฉพาะเจาะจงในการอ่านหนังสือ เช่น ใน 1 วันต้องตั้งเวลาเฉพาะเจาะจงสำหรับการอ่าน เช่น วันละ 15 นาที 1 อาทิตย์จะอ่านได้กี่หน้า 1 เดือนได้เท่าไร ต้องพยายามคำนวณจากหนังสือที่เราต้องอ่าน ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ๆ ลดการใช้เวลาในด้านอื่นที่ไม่จำเป็น

พัฒนาทักษะการอ่านที่มีประสิทธิภาพ
      โดยศึกษาเทคนิคการอ่านและฝึกทำตามเป็นประจำ อย่างน้อยต้องมีวัตถุประสงค์ในการอ่าน เพื่อทำให้การอ่านมีความหมาย โดยจับประเด็นหลักให้ได้ กำหนด วัตถุประสงค์ วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และเก็บบันทึกความเข้าใจ อาจด้วยการจดบันทึกคำสำคัญไว้ตลอดการอ่าน ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงเวลาที่ไม่ควรอ่านหนังสือ เช่น หงุดหงิด ง่วงนอน ไม่มีสมาธิ เพราะอาจทำให้การอ่านไม่ประสบความสำเร็จและทำให้ไม่ชอบอ่านในที่สุด
       หากเรายังต้องทำงานในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ เราจำเป็นต้องให้อาหารสมองที่ดี มีประโยชน์ และให้อาหารใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานให้ก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
ที่มา http:// www.kriengsak.com